กูรูวงการประกัน เปิดเหตุผล ‘เอ็ทน่า’ ขายกิจการให้อลิอันซ์ ทิ้งธุรกิจประกันสุขภาพในไทย หลังเข้าซื้อกิจการ Bupa Thailand ทำตลาดไม่ถึง 5 ปี
วันที่ 26 มีนาคม 2565 แหล่งข่าววงในธุรกิจประกันภัย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากเอ็ทน่า(Aetna Inc.) ได้ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการ Bupa Thailand ซึ่งเป็นธุรกิจประกันสุขภาพของคนไทยเมื่อประมาณ 25 ก.ค.2560 โดยเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเมื่อปี 2561 ใช้เวลาอยู่ไม่ถึง 5 ปี ก็ต้องออกจากตลาดเมืองไทยไป สาเหตุเพราะตลาดประกันสุขภาพของไทยเป็นตลาดปราบเซียนและสยบเซียนมากพอสมควร เนื่องด้วยสาเหตุคือ
1.มีการแข่งขันสูงในด้านราคา โดยเฉพาะงาน Group Health Plan
2.ค่ารักษาพยาบาลที่ถูกผูกขาด โดยกลุ่มโรงพยาบาลขนาดใหญ่เพียงไม่กี่กลุ่ม อาทิ BDMS, THG, BCH
3.การรักษาที่ Over-Treatment และ Over-Charge จากโรงพยาบาล
4.ข้อจำกัดในการถือครองหุ้น 100% จากกฏเกณฑ์การกำกับของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้บริษัทประกันภัยข้ามชาติมีต้นทุนในการดำเนินงานที่สูง
ทั้งนี้จากการที่กลุ่มอลิอันซ์(Allianz) ได้ประกาศเข้าเทกโอเวอร์เอ็ทน่า ธุรกิจประกันสุขภาพในประเทศไทย โดยจะจบดีลนี้อีก 3 เดือนข้างหน้า สะท้อนถึงการทำธุรกิจของอลิอันซ์ในไทยตอนนี้ มีทั้งธุรกิจประกันชีวิต ธุรกิจประกันวินาศภัย และธุรกิจประกันสุขภาพ ฉะนั้นหากการควบรวมอลิอันซ์อยุธยาประกันภัยกับเอ็ทน่าเกิดขึ้นแล้ว จะทำให้อลิอันซ์อยุธยาประกันภัยขึ้นเป็นท็อป 10 ในตลาดทันที
ย้อนรอย 5 ปี ‘เอ็ทน่า’ ซื้อกิจการ ‘บูพา’
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ค.2560 Aetna Inc.ผู้ให้บริการสวัสดิการด้านสุขภาพชั้นนำระดับโลก ประกาศในวันนี้ว่าบริษัทได้เข้าซื้อกิจการ Bupa Thailand ซึ่งเป็นธุรกิจของคนไทยในกลุ่มบูพา การเข้าซื้อกิจการดังกล่าวจะเพิ่มสถานะของ Aetna ในเอเชียอย่างมาก และเป็นกุญแจสำคัญในกลยุทธ์ของบริษัทในการก้าวสู่ตลาดการดูแลสุขภาพในท้องถิ่นให้กว้างขึ้นและลึกขึ้น
บูพาประเทศไทยก่อตั้งขึ้นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว และเป็นผู้นำด้านประกันสุขภาพเฉพาะทางชั้นนำของประเทศไทย ด้วยสมาชิกมากกว่า 300,000 ราย และเครือข่ายผู้ให้บริการด้านสุขภาพกว่า 400 รายในประเทศ
เอ็ทน่า อินเตอร์เนชั่นแนล ก่อตั้งในปี 1853 ในเมืองฮาร์ตฟอร์ด รัฐคอนเนตทิคัต สหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการด้านสวัสดิการและบริการด้านสุขภาพระดับสากลที่ใหญ่ที่สุด ให้บริการสมาชิกมากกว่า 700,000 รายทั่วโลก รวมถึงชาวต่างชาติ ชาวท้องถิ่น และผู้เดินทางเพื่อธุรกิจ ผลประโยชน์ทั่วโลกรวมถึงความช่วยเหลือด้านการแพทย์ ทันตกรรม การมองเห็น และเหตุฉุกเฉิน และในบางภูมิภาค ชีวิตและความทุพพลภาพ
อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance